ในฐานะที่เป็นทันตแพทย์ ผมมักจะถูกถามจากคนไข้ว่า "คุณหมอ... ยาสีฟันยี่ห้อไหนดี" ก่อนจะตอบคำถามข้างต้นนี้ ผมขอแจ้งขีดจำกัดด้วยจรรยาบรรณในวิชาชีพ (แบบที่โฆษณาในทีวี) ทันตแพทย์จะระบุยี่ห้อผลิตภัณฑ์ยาสีฟันให้ทราบตรงๆ ไม่ได้ เพราะจะเหมือนเป็นการโปรโมทผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยอาศัยความน่าเชื่อถือในความเป็นทันตแพทย์ (ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีความรู้เรื่องยาสีฟัน มากกว่าคนอื่นๆ) ทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ บริษัทยาสีฟันจึงหันไปใช้ดาราเป็นพรีเซนเตอร์ โดยหวังว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกใช้ยาสีฟันตามดารา และท่านเชื่อไหมว่า หากท่านถามทันตแพทย์ ทันตแพทย์แต่ละท่าน ก็อาจให้คำตอบที่หลากหลายเช่นกันการจะตอบคำถามข้างต้นให้เหมาะสมนั้น ควรจะให้ความรู้เป็นสิ่งช่วยตัดสินใจ ถึงคุณประโยชน์ของสารประกอบในยาสีฟัน แล้วท่านก็จะได้ยาสีฟันที่เหมาะสมกับความชอบและความต้องการของแต่ละคนได้
ท่านเชื่อหรือไม่ว่า ยาสีฟันอาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลย หากท่านสามารถแปรงฟันได้ถูกต้อง และใช้เวลาในการแปรงที่นานพอ หลายๆ คนคิดว่า ยาสีฟันคือยา มีความรู้สึกว่าเหมือนยาที่ใช้ทาแผล รักษาแผลได้ ในความเป็นจริงยาสีฟัน แม้จะมีคำนำหน้าว่ายา แต่มันกลับไม่ใช่ยา มันถูกจัดเป็นเครื่องสำอางเปรียบเทียบเหมือนสบู่ ที่หากเอามาอาบน้ำ แต่ไม่ได้ขัดถูร่างกายและซอกหลืบให้ดีและนานพอ ร่างกายเราก็จะไม่สะอาดได้ การแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟัน เป็นเพียงการใช้สารที่ช่วยให้การแปรงฟันเห็นเป็นรูปธรรม โดยผู้แปรงจะได้เห็นฟอง หรือเห็นสารกระจายไปในตำแหน่งต่างๆ ที่ผ่านการแปรงแล้ว และเพิ่มกลิ่นสมุนไพร กลิ่นหอมของสารประกอบต่างๆ ทำให้ปากสดชื่นนั่นเอง แม้ว่ายาสีฟันบางชนิดจะอ้างว่า มีสารฆ่าเชื้อเป็นส่วนประกอบ แต่ผลดีที่ได้จากการกำจัดเชื้อในช่องปาก ก็ไม่ได้ผลใดๆ หากมีการแปรงฟันที่ผิดวิธี ได้มีงานวิจัยหลายชิ้น แสดงให้เห็นว่า การแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟัน และไม่ใช้ยาสีฟันนั้น ให้ผลความสะอาดในช่องปากไม่แตกต่างกัน แต่การใช้ยาสีฟันแปรงฟันมีส่วนช่วยให้การแปรงฟันนั้น มีความสนุก สดชื่น กว่าการไม่ใช้ยาสีฟันร่วมในการแปรงฟัน
ปัจจุบัน ยาสีฟันในชั้นขายมีหลายสูตร หลายผลิตภัณฑ์ เราอาจได้ยินยาสีฟันสูตรป้องกันฟันผุ ยาสีฟันแก้อาการเสียวฟัน ยาสีฟันสูตรฟอกฟันขาว ยาสีฟันสูตรควบคุมหินปูน ยาสีฟันสูตรบำรุงเหงือก ทั้งนี้ โฆษณาที่มีมากมายมุ่งเน้นการให้พรีเซนเตอร์สวย หล่อ มาให้ทุกคนปลื้มกับฟันของดารา ในโลกความจริง ยาสีฟันที่วางขายในตลาด จะบอกส่วนประกอบไว้
ข้างกล่อง หากเราต้องการทราบว่ายาสีฟันใดดี เราควรจะศึกษาส่วนประกอบต่างๆนั้น แล้วเราก็จะเลือกยาสีฟันได้เหมาะสมกับเราเอง
สารประกอบในยาสีฟันและคุณประโยชน์
1. ฟลูออไรด์ แน่นอนว่าฟลูออไรด์สามารถป้องกันฟันผุได้ และสมาคมทันตแพทย์ต่างยอมรับว่า ฟลูออไรด์ในยาสีฟันที่ 1000 ppm สามารถช่วยป้องกันฟันผุได้หากใช้แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม หากเราอ่านข้างกล่องถึงปริมาณการใช้ยาสีฟัน จะมีการระบุไว้ว่าให้ใช้ยาสีฟันขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว หรือ ¹⁄³ ของขนาดเม็ดถั่ว และห้ามกลืนกินฟลูออไรด์ นอกจากนี้ ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์มากกว่า 1500 ppm จะไม่มีการวางขายในท้องตลาดและต้องให้ทันตแพทย์เป็นคนสั่งจ่ายให้เท่านั้น ไม่เหมาะในการใช้ในบุคคลธรรมดา ควรใช้ในบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อโรคฟันผุสูง ยาสีฟันฟลูออไรด์สำหรับเด็กเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจกลืนยาสีฟันในขณะแปรงฟัน จึงมีความกังวลว่าการใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ที่มีความเข้มข้น 1,000 ppm อาจทำให้เด็กเล็กได้รับ
ฟลูออไรด์มากเกินไป ผลเสียระยะสั้นคือ เด็กบางคนจะมีอาการท้องร่วง ส่วนผลเสียระยะยาวคือ หากได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป ฟันแท้ที่งอกออกมาอาจเป็นฟันตกกระหรือฟัน fluorosis ได้ นอกจากนี้ในสตรีมีครรภ์ควรระมัดระวังการกลืนกินยาสีฟันฟลูออไรด์ในขณะแปรงฟันด้วย ยาสีฟันสำหรับเด็กเล็กนั้น ควรเป็นยาสีฟันที่ไม่มีฟลูออไรด์ และควรจำกัดปริมาณยาสีฟันที่ให้เด็กเล็กแปรงด้วย สารฟลูออไรด์ที่ระบุข้างกล่อง ได้แก่ โซเดียมฟลูออไรด์ (sodium fluoride) สแตนนัสฟลูออไรด์ (stannous fluoride) โซเดียมโมโนฟลูโอโรฟอสเฟต (sodium monofluorophospate) และเอมีนฟลูออไรด์ (amine fluoride) เป็นต้น
2. ผงซิลิกาหรือสารขัดฟัน ยาสีฟันส่วนใหญ่ใช้ซิลิกาไฮเดรชันเป็นสารช่วยขัดฟัน สารนี้จะมีลักษณะเป็นผงละเอียดเล็ก เมื่อใส่น้อยๆ จะช่วยในการขัดคราบสกปรกบนฟันได้ แต่ข้อเสียคือหากแปรงฟันแรงหรือขัดฟันรุนแรง ก็มีผลให้ฟันสึกหรือกร่อนได้ ยาสีฟันสูตรไวท์เทนนิ่งในเมืองไทย เป็นยาสีฟันที่มีผงซิลิกาขนาดใหญ่ขึ้นและจำนวนมากขึ้น มีผลในการกำจัดคราบบนฟัน แต่ไม่สามารถฟอกสีฟันได้ หากอ่านข้างกล่องจะมีข้อความระบุว่า ยาสีฟันช่วยให้ฟันขาวด้วยการกำจัดคราบอาหารบนตัวฟัน อย่างไรก็ดี หากเราใช้ยาสีฟันชนิดนี้ และมีการแปรงฟันรุนแรง แม้ว่าฟันจะขาวขึ้น แต่ก็อาจส่งผลให้คอฟันสึกได้ เนื่องจากผงขัดฟันที่มีปริมาณมากในยาสีฟัน
3. เกลือ มีส่วนช่วยรักษาแผลในเหงือกได้ มีรสเค็มในอดีตพบว่า เมื่อใช้เกลือละลายน้ำอุ่นและบ้วนปาก มีผลในการรักษาเหงือกให้แข็งแรงได้ อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวัง ในการใช้ยาสีฟันสูตรเกลือในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันสูง การพลาดพลั้งกลืนกินยาสีฟัน ทำให้มีเกลือในร่างกายสูง
4. สารสร้างฟอง หรือ Sodium Lauryl Sulfate เป็นสารที่ใส่ลงไปในยาสีฟัน เพื่อให้ยาสีฟันเป็นเนื้อครีม และเมื่อใช้แปรงฟัน จะทำให้เกิดฟองจำนวนมาก สารชนิดนี้ ช่วยให้การแปรงฟันแล้วเกิดฟอง ทำให้เกิดความรู้สึกสนุกเมื่อแปรงฟัน แต่พบว่ามีคนจำนวนหนึ่ง มีอาการแพ้สาร SLS นี้ ลักษณะการแพ้คือ อาจมีแผลเปื่อยที่มุมปาก หรือรุนแรงถึงขนาดแผลเปื่อยที่เหงือกและกระพุ้งแก้ม ดังนั้นผู้ที่มีอาการแพ้จึงควรหลีกเลี่ยงยาสีฟันที่มี ส่วนผสมSLS
5. สารลดอาการเสียวฟัน ในยาสีฟันสูตรลดอาการเสียวฟัน จะพบสารลดอาการเสียวฟัน ได้แก่ โพแทสเซียมไนเตรด โพแทสเซียมคลอไรด์ สทรอนเทรียมคลอไรด์ โนวามิน (Novamin) สารเหล่านี้ ช่วยลดอาการเสียวฟันได้ แต่อาจทำให้ยาสีฟันมีรสขม
6. สารควบคุมการเกิดหินปูน ในยาสีฟันสูตร tartar control จะพบสาร tetrasodium pyrophosphate ซึ่งมีผลในการยั้บยั้งการเกิดหินปูนใหม่บริเวณฟัน ในยาสีฟันชนิดนี้จะพบการใส่สารให้มีฤทธิ์เป็นเบสสูง ได้แก่ sodium bicarbonate ซึ่งทำให้ยาสีฟันมีคุณสมบัติเป็นเบส ในคนที่แพ้สารดังกล่าว ก็อาจทำให้มีแผลลอกในปากได้เช่นกัน ยาสีฟันชนิด tartar control นี้ มักจะให้ความรู้สึกแสบได้ เมื่อยาสีฟันสัมผัสฟัน
7. Triclosan มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบระหว่างเหงือกและฟัน เป็นสารต่อต้านเชื้อโรคได้ดี แต่สารไตรโคซานนี้ มักจะผลิตจากเปลือกสัตว์ทะเล ดังนั้น ในคนที่แพ้อาหารทะเล อาจต้องระมัดระวัง เพราะอาจส่งผลให้เกิดอาการแพ้สารนี้ในยาสีฟันได้
8. น้ำมันกานพลู หรือ Eugenol มีคุณสมบัติช่วยสมานแผล ลดการปวดฟัน และลดการอักเสบของเหงือกได้ มีกลิ่นแรง แต่ก็พบว่าบางคนใช้แล้วมีเนื้อเยื่อในช่องปากเปื่อยได้
9. การบูร หรือ Camphor หรือสารสกัดจากการบูรในรูปแบบอื่นๆ จะช่วยลดการไหลของน้ำลายในเวลากลางคืน ทำให้กลิ่นปากน้อยลง อย่างไรก็ตาม ยาสีฟันที่มีการบูรมาก หากใช้ปริมาณต่อการแปรงมากกว่าเม็ดถั่วเขียว อาจทำให้ปากแห้งมากเกินไป และเกิดอาการแสบในช่องปากได้
10. สารอื่นๆ เช่น Co Q10. ถ่าน. xylitol สมุนไพรอื่นๆ วิตามินซี ล้วนแต่มีผลเล็กน้อยต่อเหงือกและฟัน อาจมีผลฆ่าเชื้อในปากบ้าง ซึ่งสารอื่นๆ ข้างต้นก็มีเช่นกัน
การใช้ยาสีฟันที่ถูกต้อง
1. อย่าใช้มากเกินไป โดยขนาดที่แนะนำคือ ขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวหรือใช้ขนาดแค่ 1/3 ของขนาดเม็ดถั่วลิสง การใช้ปริมาณมาก อาจทำให้เกิดฟองเยอะ แต่มันไม่ได้ช่วยให้ฟันสะอาดเลย เปรียบเหมือนการอาบน้ำหากถูร่างกายไม่ทั่ว ส่วนที่ไม่ได้ถูสบู่ก็ไม่สะอาดเช่นกัน
2. ใช้เวลาในการแปรงอย่างน้อยสามนาที
3. แปรงฟันให้ครบทุกด้าน ได้แก่ ด้านบดเคี้ยว ด้านกระพุ่งแก้ม เพดานปาก และด้านลิ้น โดยค่อยๆแปรงให้ครบทุกด้าน ไม่ละเลยด้านใดด้านหนึ่งไป การแปรงฟันก็จะสะอาดครบถ้วนนั่นเอง
4. แปรงฟันอย่างน้อย วันละสองครั้ง คือก่อนนอนและตื่นนอนตอนเช้า
คำถามที่ว่า "คุณหมอ ยาสีฟันยี่ห้อไหนดี" หมอคงตอบได้ง่ายๆ เลยว่า เอายี่ห้อที่รสชาติดี ใช้แล้วไม่แพ้ ถูกปาก และราคาไม่แพง ทุกอย่างขึ้นกับเทคนิคการแปรงและเวลาที่ใช้ในการแปรง ยาสีฟันเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบเท่านั้นครับ
อีกคำถามยอดนิยม คือแปรงสีฟันอะไรดี ระหว่างแปรงสีฟันไฟฟ้ากับแปรงสีฟันธรรมดา
ก่อนจะตอบคำถามนี้ ขอเล่าถึงประวัติการผลิตแปรงสีฟันไฟฟ้า ในอดีตนั้นแปรงสีฟันไฟฟ้าถูกผลิตขึ้นมาเพื่อคนมือพิการ ที่ต้องอาศัยคนทั่วไปช่วยแปรง แปรงสีฟันไฟฟ้าในอดีตนั้น มีราคาค่อนข้างสูงและมีขนาดใหญ่ จนเมื่อสิบปีที่ผ่านมานี้เอง แปรงสีฟันไฟฟ้าได้มีขนาดเล็กลง และมีราคาถูกลงอย่างมาก จึงมีผู้นิยมใช้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้หากท่านสามารถแปรงฟันได้ดี ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า แต่หากท่านแปรงฟันได้ไม่ดี มีความลำบากในการวางมือในตำแหน่งฟันด้านต่างๆ แปรงสีฟันไฟฟ้าก็สามารถใช้ได้อย่างดีเยี่ยม การเลือกแปรงที่ดีคือ
การเลือกขนาดหัวแปรงที่พอดีกับฟันประมาณสองถึงสามซี่ แล้วมีปลายหัวแปรงที่สามารถทำความสะอาดฟันกรามซี่สุดท้ายได้ หรือใช้แปรงไฟฟ้าร่วมกับแปรงมือหัวขนาดเล็ก ที่สามารถทำความสะอาดฟันกรามซี่ในสุดได้
หลักการใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าที่ถูกต้องคือ
1. เปิดเครื่องและวางหัวแปรงลงบนตำแหน่งฟันที่ต้องการทำความสะอาด โดยวางขนแปรงไว้บริเวณคอฟันติดร่องเหงือก ไม่วางขนแปรงไว้บนเหงือก
2. วางมือปกติ ไม่กดหัวแปรงลงที่ฟัน ขนแปรงจะทำความสะอาดฟันที่หัวแปรงวางไว้
3. วางแต่ละตำแหน่งโดยจับเวลาประมาณ 10 วินาที
4. เคลื่อนหัวแปรงไปในตำแหน่งต่างๆ โดยยกแปรงก่อนวางลงที่ด้านต่างๆ ทั้งด้านริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม และลิ้นหรือเพดาน
5. แปรงด้านบดเคี้ยวโดยวางขนแปรงลงบนด้านบดเคี้ยวของฟัน และจับเวลา ประมาณ 10 วินาที
6. ใช้เวลาในการแปรงทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่าสามนาที
แล้วพบกันใหม่ครับ
Story By
รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
ประธานหลักสูตรทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงาม และทันตกรรมรากเทียม
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย