คุณพ่อคุณแม่ทุกคน คงมีคำถามว่า ฟันของลูกตนเอง ควรขึ้นเมื่อไร ฟันน้ำนมมีกี่ซี่ ฟันแท้มีกี่ซี่ และฟันแต่ละซี่ควรขึ้นเมื่อไร เมื่อไรฟันน้ำนมควรหลุด และเมื่อไรฟันแท้ควรจะขึ้น บทความฉบับนี้ หมอได้รวบรวมคำตอบของคำถามทั้งหมด เพื่อตอบข้อข้องใจข้างต้น เพื่อคุณพ่อคุณแม่ สามารถนำไปตรวจหรือสังเกตในบุตรหลานของตน หากพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ คุณพ่อคุณแม่ควรนำบุตรหลานของท่านเข้าปรึกษาทันตแพทย์โดยด่วน เพื่อตรวจว่ามีความผิดปกติเรื่องฟันหรือไม่ หากเป็นความผิดปกติก็จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ความรู้เบื้องต้นเรื่องฟัน
มนุษย์ทุกคนจะมีฟันตามธรรมชาติ 2 ชุด ชุดแรกเรียกว่าฟันน้ำนม ชุดที่สองเรียกว่าฟันแท้ ฟันน้ำนมจะมีขนาดเล็ก สีขาวกว่าฟันแท้ มีจำนวนทั้งสิ้น 20 ซี่ โดยแบ่งเป็นฟันบน 10 ซี่ และฟันล่าง 10 ซี่ มีชื่อเรียกดังนี้ฟันแท้และฟันน้ำนม จะแบ่งเป็นสองซีก คือซีกด้านขวา และซีกด้านซ้าย ซึ่งจะประกอบไปด้วยฟันที่มีรูปลักษณะเหมือนกันทั้งสองด้าน และมีชื่อเรียกเหมือนกัน แบ่งเป็นด้านซ้ายและด้านขวาฟันแท้จะมีขนาดใหญ่ แต่สีเหลืองกว่าฟันน้ำนม มีจำนวนทั้งสิ้น 32 ซี่ โดยแบ่งเป็นฟันบน 16 ซี่ (ด้านขวาบน 8 ซี่ ด้านซ้ายบน 8 ซี่) และฟันล่าง 16 ซี่ (ด้านขวาล่าง 8 ซี่ ด้านซ้ายล่าง 8 ซี่) มีชื่อเรียกดังนี้
ฟันน้ำนมคู่แรก ที่ขึ้นในช่องปากคือ ฟันตัดซี่กลางล่าง ที่อายุประมาณ 6-8 เดือน และฟันน้ำนมจะขึ้นครบเมื่อเด็กอายุ 2 ปี 10 เดือน ทั้งนี้ ในเด็กแต่ละคน ฟันอาจจะขึ้นที่ช่วงอายุแตกต่างกันไป หากฟันขึ้นช้าไปบ้าง ผู้ปกครองก็ไม่ควรจะกังวลใจมาก แต่หากฟันขึ้นไม่ครบ ท่านก็ควรนำบุตรหลานของท่าน เข้ารับการปรึกษากับทันตแพทย์
ฟันน้ำนมจะหลุดเมื่อเด็กอายุประมาณ 6-7 ปี ทั้งนี้เพราะฟันแท้กำลังจะขึ้นในช่องปาก ฟันแท้จะอยู่ข้างใต้ฟันน้ำนม และจะละลายรากฟันน้ำนม ฟันน้ำนมจะโยกและพร้อมจะหลุด
ฟันแท้ซี่แรกที่ขึ้นในช่องปาก คือฟันกรามใหญ่ซี่ที่หนึ่ง ทั้งฟันบนและฟันล่าง โดยฟันซี่ใหญ่นี้จะงอกออกมาด้านหลังฟันน้ำนมซี่สุดท้าย (ไม่ได้ขึ้นมาทดแทนฟันซี่ใดๆ) ที่อายุประมาณ 6-7 ปี ซึ่งเป็นช่วงใกล้เคียงกับเวลาที่ฟันน้ำนมคู่หน้าล่างจะหลุด โดยฟันน้ำนมฟันตัดซี่กลางล่างจะค่อยๆโผล่ขึ้นมาในช่องปาก
ในช่วงอายุ 6-12 ปี เป็นช่วงเวลาที่เด็กทุกคนจะมีฟันน้ำนมทยอยหลุดออกจากช่องปาก นับเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่องปาก ในช่วงอายุนี้ เด็กจะยังคงมีฟันแท้และฟันน้ำนมในช่องปาก ระยะนี้จึงเรียกได้ว่า เป็นระยะฟันผสมนั่นเอง
การใช้ประโยชน์จากตารางข้างต้น ตารางฟันน้ำนม
• กรณีพบว่าฟันน้ำนมขึ้นเร็วกว่าเวลาที่กำหนดในตารางเล็กน้อย ผู้ปกครองไม่ต้องกังวลใจ แต่หากฟันน้ำนมไม่ขึ้นเกินเวลากำหนดในตารางมากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป ควรนำบุตรหลานของท่านเข้าปรึกษากับทันตแพทย์
• กรณีสูญเสียฟันน้ำนมก่อนเวลาที่กำหนดในตาราง (อาจเสียฟันจากฟันผุ หรือจากอุบัติเหตุ) ควรนำบุตรหลานของท่านเข้าปรึกษากับทันตแพทย์ ทันตแพทย์อาจทำเครื่องมือกันฟันล้ม เพื่อรักษาพื้นที่บริเวณนั้นๆ ให้ฟันแท้มีที่ขึ้นได้
• กรณีที่มีฟันน้ำนม ไม่ครบจำนวน 20 ซี่ เมื่อเด็กอายุประมาณ 3 ปีควรนำบุตรหลานของท่านเข้าปรึกษากับทันตแพทย์
ตารางฟันแท้
• กรณีพบว่าฟันแท้ไม่ขึ้น เกินเวลากำหนดในตารางมากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป ควรนำบุตรหลานของท่านเข้าปรึกษากับทันตแพทย์ เพื่อตรวจสอบว่ามีฟันแท้หายไปไหม หรือฟันแท้ไม่สามารถขึ้นได้ ทั้งนี้ จะได้วางแผนในการจัดการฟันแท้ที่ไม่ขึ้น หรือจัดฟันเพื่อให้ฟันและขากรรไกรมีการสบฟันที่ปกติ ในปัจจุบันพบว่า เด็กใน generation นี้ มีอัตราของฟันหายบางซี่ (จากการไม่สร้างฟัน) เป็นอัตราที่สูง การปล่อยทิ้งไว้นาน มีแต่จะเกิดผลเสียขึ้นกับฟัน
• ฟันกรามซี่ที่สามมีช่วงอายุในการขึ้นในช่องปาก ที่อายุ 17-21 ปี ดังนั้น หากฟันกรามซี่ที่สามไม่ขึ้นในช่องปาก ควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟัน โดยอาจพิจารณาถอนฟันกรามซี่ที่สามซึ่งคุด (ไม่ขึ้น) ในช่องปากนั้นออกไป หากปล่อยทิ้งไว้ อาจก่อให้เกิดอาการปวดฟัน ฟันหน้าล้มจากแรงดันของฟันที่พยายามขึ้นในช่องปาก หรืออาจทำให้ฟันกรามซี่ที่สองผุหรือเกิดผลเสียจนสูญเสียฟันกรามซี่ที่สองเพิ่ม
ท่านสามารถใช้ประโยชน์จากการอ่านบทความนี้ เพื่อเอาไปเปรียบเทียบว่า เด็กตั้งแต่ทารกจนถึง 20 ปี อายุใดควรมีฟันซี่ไหน ขึ้นและหลุด เป็นลำดับๆ ไป เพื่อใช้เป็นแนวทางตรวจสอบ หากพบความผิดปกติใดๆ ควรเข้าปรึกษาทันตแพทย์ประจำตัวของท่านนะครับ
Story By รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
ประธานหลักสูตรทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงามและทันตกรรมรากเทียม
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย