counters
hisoparty

เคลือบผิวฟันเทียม หรือ วีเนียร์ เฟสซิ่ง (Veneer or Facing)

5 years ago

เคลือบผิวฟันเทียม หรือ วีเนียร์ เฟสซิ่ง (Veneer or Facing) เป็นทันตกรรมเพื่อความสวยงาม ที่สามารถใช้เพื่อแก้ไขความผิดปกติของรูปร่างฟัน สีฟัน รวมถึงการเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติเล็กน้อย โดยมีการกรอแต่งผิวเคลือบฟันในปริมาณที่น้อยเพื่อนำวัสดุสีเหมือนฟันมายึดติดกับผิวด้านหน้าฟันด้วยสารยึดชนิดเรซินซีเมนต์ซึ่งมีสีเหมือนฟันเช่นกัน สามารถทำได้ด้วยวัสดุ 2 ประเภท ได้แก่ เรซินคอมโพสิต (Resin Composite) และ เซรามิกหรือพอร์ซเลนลามิเนตวีเนียร์ (Ceramic or Porcelain Laminate Veneer)

วัตถุประสงค์ในการทำเคลือบฟันเทียม
1. แก้ไขฟันที่เรียงตัวผิดปกติไม่มาก
2. ปิดช่องว่างระหว่างฟันหน้าหลายๆซี่ ที่ห่างกันเล็กน้อย 
3. แก้ไขฟันที่มีเคลือบฟันผิดปกติ
4. แก้ไขฟันที่มีสีเข้มผิดปกติที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการฟอกสีฟัน
5. แก้ไขรูปร่างฟันที่ผิดปกติ
6. รักษาฟันซึ่งเกิดการสูญเสียเนื้อฟันไปไม่มาก

ข้อดีและข้อด้อยของเคลือบผิวฟันหรือวีเนียร์ชนิดต่างๆ
ข้อดี
เรซินคอมโพสิต
1. มีความสวยงาม สีเลียนแบบฟันธรรมชาติได้อย่างน่าพอใจ
2. ค่าใช้จ่ายถูกกว่า
3. การซ่อมแซมหรือทำใหม่ สามารถซ่อมแซมทดแทนเฉพาะส่วนได้โดยไม่ต้องทำวีเนียร์ใหม่ทั้งชิ้น

เซรามิก
1.มีความสวยงามเป็นธรรมชาติ เลียนแบบเคลือบฟันของมนุษย์ได้ดีมาก
2. มีความแข็งแรงทนทานต่อการแตกหักสูง
3. ไม่ดูดซึมน้ำ ทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงสี และมิติ
4. ไม่ติดคราบสีต่างๆ เช่น เครื่องดื่มประเภท ชา, กาแฟ, น้ำอัดลม, อาหาร, บุหรี่ และแอลกอฮอล์
5. ทนทานต่อการสึกกร่อนและการเกิดรอยขีดข่วน 
6. มีความเข้ากันได้กับเนื้อเหงือกรอบฟันสูง 

ข้อด้อย
เรซินคอมโพสิต
1. ความแข็งแรงน้อยกว่า
2. วัสดุดูดซึมน้ำเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้วัสดุด้านไม่มันวาว สีทึบหรือสีเปลี่ยนได้
3. การปิดบังสีฟันคล้ำ จะทำได้ยากกว่าวัสดุแบบพอร์ซเลน/เซรามิ

เซรามิก
1. ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการใช้วัสดุคอมโพสิตเรซินวีเนียร์
2. เวลาในการรักษาอย่างน้อย 4 ครั้ง
3. ทันตแพทย์ต้องมีประสบการณ์และความชำนาญในการทำงานสูง
4. ผลงานความสวยงามส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของช่างผู้ผลิตชิ้นงาน
5. อาจจะทำให้ฟันคู่สบสึกได้       
6. การซ่อมแซมจะทำได้ยากอาจจะต้องทำใหม่

ขั้นตอนการรักษา
ทันตแพทย์จะแบ่งขั้นตอนการรักษาเป็นอย่างน้อย 4 ครั้งคือ
การนัดครั้งแรก ประเมินและวางแผนการรักษา
การนัดครั้งที่สอง กรอฟัน ผิวหน้าฟันส่วนหนึ่งจะถูกกรอออกไปบางส่วน (อาจต้องใช้ยาชาเฉพาะที่เข้าช่วย) จากนั้นทันตแพทย์จะทำพิมพ์ปาก เป็นการเตรียมแบบจำลองฟัน แล้วส่งไปยังห้องแล็บเพื่อทำชิ้นงาน
การนัดครั้งที่สาม การใส่ชิ้นงานและยึด รวมทั้งขัดแต่ง
การนัดครั้งที่สี่ ต้องมีการนัดเพื่อตรวจเช็คและดูแลรักษา

สิ่งที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติหลังรับการรักษาด้วยวีเนียร์
1. ไม่ใช้ฟันวีเนียร์เคี้ยวน้ำแข็ง
2. แปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ และใช้ไหมขัดฟันทุกวัน
3. ถ้ามีประวัตินอนกัดฟันควรแจ้งทันตแพทย์ เพื่อรับเครื่องมือป้องกันการสบกระแทกของฟันชนิดอ่อน
4. ห้ามกัดเล็บ
5. ห้ามกัดปลายดินสอ
6. พยายามหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และทานอาหารที่มีสีซึ่งอาจก่อให้เกิดคราบสีที่ขอบวีเนียร์
7. ระวังการใช้ฟันหน้ากัดขบอาหารแข็ง
8. เตือนทันตแพทย์ผู้ขูดหินปูนว่าซี่ใดเป็นวีเนียร์เพื่อทันตแพทย์จะได้ระมัดระวังเมื่อขูดหินปูน

การดูแลรักษา
1. ต้องใช้ฟันที่ได้บูรณะวีเนียร์อย่างระมัดระวัง แม้ว่าฟันที่บูรณะด้วยวีเนียร์จะมีความแข็งแรงมากก็ตามแต่ถ้าหากใช้ผิดวิธีอาจแตกหักได้
2. ผู้ป่วยต้องกลับมาตรวจวีเนียร์ 1 สัปดาห์ 1 เดือน และสามเดือนหลังใส่วีเนียร์ ต่อมาตรวจทุกปี
3. อาจมีความจำเป็นต้องใส่เครื่องป้องกันการสบกระแทกชนิดอ่อนในผู้ป่วยที่มีประวัตินอนกัดฟัน หรือมีลักษณะการบูรณะซึ่งเสี่ยงต่อการสบฟันแรง

story by
รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
ประธานหลักสูตรทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงามและทันตกรรมรากเทียม
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

SHARE